Contact information

110/1-4 Prachachuen Road, Thung Song Hong Sub-District, Lak Si District, Bangkok.

Call Now. 080-9897415 ( คุณใหญ่ ) info@tlwa.or.th

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เวลา 13:00 น. ณ ห้องเธียเตอร์ อาคารสาธารณสุขวิศิษฏ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย (Thai Lifestyle Medicine and Wellbeing Association) ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ เรื่อง การเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิตในการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพของบุคลากรและประชาชน กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จำนวน 21 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์วิถีชีวิตเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มพูนองค์ความรู้ในศาสตร์ด้านนี้ให้แก่สังคมไทยและสังคมนานาชาติ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเผยแพร่ ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาทักษะและความรู้ด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตให้กับสมาชิกขององค์กร เพื่อนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และในการดูแลรักษาผู้ป่วย และส่งเสริมความร่วมมือด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตให้กับบุคลากรภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ
ด้วยสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย (Thai Lifestyle Medicine and Wellbeing Association ชื่อย่อว่า TLWA) จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมวิชาการและการประกอบโรคศิลปะด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต ตามหลักวิชาการให้กว้างขวาง ส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต ส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่องด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต ผ่านความร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตใน ระหว่างสมาชิกด้วยกัน และกับสมาคมสาขาเดียวกันและต่างสาขาวิชา ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการป้องกันโรคด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิตให้กับประชาชนทั่วไป
สมาคมจึงได้จัดทำเครือข่ายความร่วมมือกับ สถาบันในต่างประเทศคือ Lifestyle Medicine Global Alliance และ International Board of Lifestyle Medicine ซึ่งมีเครือข่ายกับ 30 ประเทศที่มีองค์กรด้าน Lifestyle Medicine เช่นกัน เพื่อประสานความร่วมมือและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้และการศึกษาวิจัยในเวทีนานาชาติต่อไป
เวชศาสตร์วิถีชีวิตคือการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่มีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ด้วยการให้ความสำคัญกับเสาหลักหกด้าน คือ การหันไปรับประทานอาหารจากธรรมชาติที่มีพื้นฐานมาจากพืช (Whole Food, Plant-based Diet) มีการเคลื่อนไหวทางกายอยู่อย่างสม่ำเสมอ นอนหลับได้อย่างเพียงพอเพื่อฟื้นฟูสุขภาพได้อย่างดี มีการบริหารความเครียด หลีกเลี่ยงการรับหรือบริโภคสารที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ การมีมุมมองทางจิตวิทยาเชิงบวก และมีความเชื่อมโยงกันทางสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับการรักษาโรคไม่ติดต่อและนำพาสถานะของโรคให้ย้อนกลับไปสู่ภาวะปกติได้
ดังนั้น เพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว สมาคมฯ เล็งเห็นว่า ความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะในมิติต่างๆ จะช่วยทำให้การ ส่งเสริมการใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิตโดยบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนประสบความสำเร็จ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สมาคมฯ จึงได้ทาบทามองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกันในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์และสุขภาพ และประชาชนทั่วไป ในการมีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี จัดทำบันทึกความร่วมมือด้าน วิชาการระหว่างสมาคมกับแต่ละองค์กรดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

    ภายหลังพิธีลงนาม ได้มีการปาฐกถาพิเศษและการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “เวชศาสตร์วิถีชีวิตและปัญหาฝุ่น PM2.5” โดยมีศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและที่ปรึกษาสมาคมฯ ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ และตามด้วยการสัมมนาวิชาการโดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.นพ.วิทวัส สุรวัฒนสกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ นายกสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย
    รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ สามารถก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของประชากรทั้งโลกได้ โดยสามารถเกิดผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ในระยะสั้น พบในผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่มีระดับ PM2.5 สูงมากๆ จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะโรคทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ภาวะโรคหัวใจชาดเลือดเฉียบพลัน ส่วนการได้รับสาร PM 2.5 ในระยะยาว พบว่าเพิ่มโอกาสเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด และมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคของหลอดเลือดหัวใจและสมอง โดยการประมาณการณ์จากองค์การอนามัยโรค คาดการว่ามีผู้เสียชีวิตจากผลเสียทางสุขภาพที่เกิดจาก PM 2.5 มากกว่าปีละ 6 ล้านคนทั่วโลก และปัญหามักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่ด้อยโอกาส มีโรคเรื้อรัง ในผู้ป่วยเด็ก ดังนั้นการตระหนักรู้และหาแนวทางร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงเป็นแนวทางที่มีความสำคัญในการลดปัญหาทางสุขภาพของประชากร เพราะมนุษย์ทุกคน ย่อมมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ที่จะสามารถหายใจอากาศที่ไม่ปนเปื้อนด้วยมลพิษ หรือ ฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายของตน
    รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย กล่าวว่าประชาชนใช้เวลาภายในอาคารถึง 90% ของเวลาทั้งหมด และสภาพอากาศภายในบ้านอาจมีการปนเปื้อนด้วยมลภาวะมากกว่านอกบ้านด้วยซ้ำ อันเนื่องมาจากการประกอบอาหาร การทำความสะอาด และการใช้ผลิตภัณฑ์ครัวเรือน สำหรับการกรองอากาศภายในบ้านเพื่อช่วยวิถีชีวิตให้มีคุณภาพขึ้น แนะนำให้ใช้เครื่องฟอกอากาศ โดยเฉพาะในห้องนอน ห้องนั่งเล่น ดูแลให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดีและเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ปล่อยมลพิษออกมาด้วย ระบบที่ใช้แผ่นกรอง HEPA ที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ถึง 0.03 ไมครอน ก็จะสามารถรับมือกับฝุ่นขนาด 2.5 ได้ …ควรรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เพื่อลดความเครียดต่อร่างกายจากภาวะออกซิเดชั่นที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และไม่ควรถึงป่ล่อยให้ตนเองขาดน้ำเพื่อสนับสนุนการทำงานของปอดให้มีประสิทธิภาพ
    ผศ.นพ. วิทวัส สุรวัฒนสกุล อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวเวชศาสตร์ กล่าวว่า การปฏิบัติตัวในช่วงที่มี PM 2.5 สูง สำหรับประชาชน ได้แก่ 1) ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อไม่ให้ฝุ่นควันเข้ามา 2) ตรวจสอบว่ามีทางเดินของฝุ่นเข้ามาทางใดบ้างและทำการควบคุม 3) งดการก่อควันในอาคาร เช่น จุดไฟสูบบุหรี่ 4) ติดตามสภาพอากาศและปฏิบัติตามคำแนะนำ 5) ใช้หน้ากากป้องกันประสิทธิภาพสูง เช่น หน้ากาก N95 6) อยู่ใน “ห้องปลอดฝุ่น” มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ 7) เมื่อคุณภาพอากาศภายนอกดีขึ้น ควรกลับมาเปิดช่องทางระบายอากาศ เช่น พัดลมดูดอากาศ หน้าต่าง อีกครั้ง
    ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ นายกสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย กล่าวว่า ความรู้ความเข้าใจและการรู้เท่าทันอันตรายของมลภาวะของประชาชนและความตระหนักด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อม (Environmental Health Literacy) มีความสำคัญในการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีการนำเสาหลักทั้งหกของเวชศาสตร์วิถีชีวิตมาปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อสุขภาพที่ดีสมวัย ตั้งแต่ก่อนฤดูกาลที่ฝุ่น PM2.5 จะก่อตัวขึ้นสร้างมลภาวะในปริมาณมากจะทำให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างได้ (Pre-Seasonal Exposure Lifestyle Modification for Optimal Health) และการพัฒนาความเชื่อมโยงสนับสนุนกันในสังคมด้วยไมตรีจิตและความเอื้ออาทร อันเป็นเสาหลักหนึ่งของ Lifestyle Medicine ตั้งแต่ก่อนจะถึงฤดูกาล จะช่วยนำพาชุมชนให้รอดพ้นจากผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ได้ (Social Connectedness and Support) และการกำหนดนโยบายและแผนงานที่ครอบคลุมทุกมิติโดยหน่วยงานต้นสังกัดไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน เพื่อให้ความปลอดภัยสำหรับบุคลากรที่จำต้องทำงานกลางแจ้งในช่วงฤดูกาลที่ระดับ PM2.5 สูงควรเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการบริหารองค์กรที่คำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่และพนักงานในสังกัดเป็นสำคัญ (Multi-dimensional Comprehensive Policy and Plan at Work Places with Accountability)

    รายชื่อหน่วยงานที่ร่วมใน
    พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ
    เรื่อง การเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิต
    ในการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพของบุคลากรและประชาชน
    ระหว่างสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย และ
    สภาการพยาบาล
    สภากายภาพบำบัด
    อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
    มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
    มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
    มหาวิทยาลัยเกริก
    คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
    คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    สมาคมการแพทย์ผสมผสานไทย
    สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ
    สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย
    สมาคมกีฬาเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย
    สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ
    สมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย
    สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
    เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล
    Health Education Academics Thailand (HEAT)
    ArokaGO: Medical and Wellness Tourism Platform

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *

    Want to subscribe to membership?

    Register
    • bubble-12
    • bubble-16